วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การบริหารผลการปฏิบัติงาน


การบริหารผลการปฏิบัติงาน



ธีระเดช ริ้วมงคล (2561) ระบุว่า การบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance management) คือ การนำผลการประเมินการปฏิบัติงาน มาพัฒนาและปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อทำให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กร
Noe, Hollenbeck, Gerhart, and Wright (2015 อ้างถึงใน ดาวิษา ศรีธัญรัตน์, 2562: 77) ระบุว่า การบริหารผลการปฏิบัติงาน หมายถึง กระบวนการในการจัดการให้ผลการปฏิบัติงาน รวมถึงกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆของพนักงานในองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายองค์กร  
การบริหารผลการปฏิบัติงานจึงมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของเป้าหมายองค์กร แม้ว่าจะมีเป้าหมายองค์กรที่ชัดเจน แต่หากขาดการบริหารผลการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม ก็ย่อมทำให้เป้าหมายสำเร็จได้ยาก (ดาวิษา ศรีธัญรัตน์, 2562: 78)
วิวัฒนาการของการบริหารผลการปฏิบัติงานเชิงกลยุทธ์ มีรากฐานมาจากการประเมินผลการปฏิบัติงาน (Performance appraisal) โดยยุคแรกๆจะเน้นการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นรายบุคคล หลังจากนั้น ยุคถัดมาจะเป็นการบริหารงานโดยวัตถุประสงค์ (Management by Objectives: MBO) ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายร่วมกันระหว่างหัวหน้างานกับพนักงาน ทำให้เป้าหมายมีความชัดเจนมากขึ้น แล้วประเมินผลการปฏิบัติงานตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ดังกล่าว ยุคถัดมาเป็นยุคของการวัดผลการปฏิบัติงาน (Performance measurement) โดยการใช้ตัวชี้วัด (Measure) ในการแปลงเป้าหมายออกมาเป็นตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่งยุคนี้ แนวความคิดสำคัญเป้นของ Robert S. Kaplan และ David P. Norton ที่นำเสนอการวัดผลการปฏิบัติงานด้วยตัวแบบ Balanced scorecard (BSC) ที่มีองค์ประกอบการวัดผล 4 มุมมอง ได้แก่ มุมมองด้านการเงิน มุมมองด้านลูกค้า มุมมองด้านกระบวนการภายใน และมุมมองด้านการเรียนรู้และเติบโต ถัดจากนั้นมาจะเป็นยุคการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance management) ซึ่งจะพิจารณาการเชื่อมโยงผลการปฏิบัติงานส่วนบุคคล ทีมงาน และหน่วยงาน กับองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ ยุคนี้จะมีการเน้นในการวางแผนกลยุทธ์และการกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ (Key performance indicator: KPI) ที่ชัดเจน ส่วนสุดท้าย คือ ยุคการบริหารผลการปฏิบัติงานเชิงกลยุทธ์ เป็นการเชื่อมโยงการบริหารกลยุทธ์ขององค์กรกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร ซึ่งประเด็นสำคัญมากสำหรับยุคนี้ คือ การพิจารณาถึงปัจจัยความสำเร็จ (Critical success factors: CSF) และตัวชี้วัดที่สำคัญ (จิรประภา อัครบวร, 2562: 2-8)

การบริหารผลการปฏิบัติงานด้วย Balanced scorecard

การบริหารผลการปฏิบัติงานด้วย Balanced scorecard เป็นพิจารณาจากการใช้เกณฑ์หรือตัวชี้วัดต่างๆที่มีหลายมุมมอง เพื่อให้เกิดความสมดุลและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว ซึ่งเกณฑ์หรือตัวชี้วัดของ Balanced scorecard ประกอบด้วย 4 มุมมอง (Perspectives) ได้แก่ (ธีระเดช ริ้วมงคล, 2561: 112)
1.               มุมมองด้านการเงิน (Financial perspective)
2.               มุมมองด้านลูกค้า (Customer perspective)
3.               มุมมองด้านกระบวนการภายใน (Internal process perspective)
4.               มุมมองด้านการเรียนรู้และเติบโต (Learning and growth perspective)

ความแตกต่างระหว่างการประเมินผลการปฏิบัติงานและการบริหารผลการปฏิบัติงาน
การประเมินผลการปฏิบัติงาน
การบริหารผลการปฏิบัติงาน
§  มองอดีตกับปัจจุบัน
§  เน้นหาข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาด
§  พนักงานปฏิบัติตามคำสั่ง
§  บทบาทของหัวหน้า คือ ผู้ตัดสิน
§  กระทำเพียงครั้งเดียว
§  บรรยากาศเครียด เกิดข้อโต้แย้งได้
§  มองอนาคต
§  เน้นการพัฒนาและปรับปรุง
§  พนักงานมีส่วนร่วมในการปฏิบัติ
§  บทบาทของหัวหน้า คือ ผู้ฝึกสอน
§  กระทำต่อเนื่อง
§  บรรยากาศแบบมีส่วนร่วม ทีมงาน
ที่มา ธีระเดช ริ้วมงคล (2561: 107)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น