วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เอสเอ็มอีเติบโต ประเทศเจริญ

เอสเอ็มอีเติบโต ประเทศเจริญ
          ทำไม ภาครัฐของทุกประเทศจึงให้ความสนใจกับ “เอสเอ็มอี” หรือ กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME หรือ Small and Medium Enterprises ) เหตุผลก็คงเพราะเมื่อเอาผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอีทั้งหมดในประเทศมารวมกัน ผลรวมที่ได้จะมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของประเทศอย่างชัดเจน ตัวอย่าง เช่น เอาผลิตภัณฑ์มวลรวมของเอสเอ็มอีในประเทศไทยทั้งหมดรวมเข้าด้วยกัน จะมีขนาดใหญ่ถึงประมาณร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศไทย การจ้างงานที่เกิดในเอสเอ็มอีมีปริมาณมาก มากกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ การส่งออกไปต่างประเทศของเอสเอ็มอีก็อยู่ในปริมาณที่สูง คือ มากกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น
            ความสำคัญของเอสเอ็มอีนั้นมีอยู่หลายด้าน ทั้งความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศและความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย เพราะเอสเอ็มอีเป็นหน่วยที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ จากสถิติในปี พ.ศ. 2559 พบว่า เอสเอ็มอีของประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 3,000,000 ราย เอสเอ็มอีถือเป็นทั้งหน่วยที่ป้อนวัตถุดิบต่างๆให้กับอุตสาหกรรม เป็นหน่วยผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศ และยังเป็นหน่วยที่รับผลผลิตจากอุตสาหกรรมไปกระจายสู่ส่วนต่างๆของประเทศไทยด้วย เช่น      เอสเอ็มอีที่เป็นกิจการผลิตอาหารและเกษตร คือ หน่วยที่ตอบสนองความต้องการในการบริโภคสินค้าต่างๆ เอสเอ็มอีที่เป็นร้านค้าปลีกถือเป็นหน่วยที่กระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคในพื้นที่ทั่วประเทศไทย เอสเอ็มอีที่เป็นร้านอาหารถือเป็นหน่วยที่ให้บริการผู้บริโภค ซึ่งร้านอาหารจะกระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย จึงเป็นส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเคลื่อนไหว มีการใช้จ่ายและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง  ดังนั้น การที่ภาครัฐส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเติบโต จึงมีความสำคัญต่อการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
จากข้อมูลการเริ่มเอสเอ็มอีและการเลิกกิจการ พบว่า เกือบครึ่งที่ไปไม่รอด ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการอยู่รอดและการเติบโตของเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจัยสำคัญหลักมีดังต่อไปนี้
1)      ความรู้ด้านธุรกิจและตลาด
ผู้บริหารเอสเอ็มอีต้องเข้าใจใน “ลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ” ที่สำคัญ เช่น การมีวิสัยทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นและเป้าหมายชัดเจน มีกระบวนการในการจัดการความเสี่ยงในเรื่องต่างๆของกิจการ ต้องไม่สะเปะสะปะ “ไม่มั่ว” ต้องเข้าใจหลักธุรกิจและการทำการตลาด ต้นทุนที่เหมาะสมอยู่ที่จุดไหน จะตั้งราคาเท่าไร เมื่อไรจะคืนทุน หากไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง การหาที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญถือเป็นทางเลือกที่ดี 
2)      การจัดการด้านวิจัย นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่
การมีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ หัวใจของการเติบโต ซึ่งต้องติดตามตลาดหรือผู้บริโภคเป้าหมายของตนเองอยู่เสมอ การมีนวัตกรรมถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงในกิจการและตลาด รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วย
3)      การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
มีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แอพพลิเคชั่นใหม่ๆในมือถือ ความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร กลุ่มการติดต่อสื่อสารในเฟสบุ๊คหรือในไลน์  การพัฒนาหุ่นยนต์หรือโรบ็อทมาทำงานแทนมนุษย์ เอสเอ็มอีต้องมีความรู้และทันต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้สามารถปรับตัวตามผู้บริโภคหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพดีมากขึ้น 
4)      การเปลี่ยนแปลงทางการเงิน
ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตและเอื้อต่อธุรกิจ ทำให้การทำธุรกรรมทางด้านการเงินมีความง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เอสเอ็มอีต้องศึกษา หาความรู้ และทำการปรับใช้เทคโนโลยีทางการเงินที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าของตนเอง เช่น การจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค๊ด (QR code) เป็นต้น
5)      การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
ผู้บริโภคสมัยใหม่ไม่เหมือนเดิมแล้ว ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่จึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งด้านความสนใจในเรื่องสุขภาพ ความงาม เรื่องอนามัยและความปลอดภัยของอาหารการกิน ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบตัว การรับรู้และความสนใจที่เปลี่ยนไป สนใจเรื่องของสังคมผ่านสื่อออนไลน์และเอพพลิเคชั่นในมือถือมากขึ้น รวมถึงการแชร์ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดความสนใจหรือความไม่พอใจ การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีมากขึ้น เช่น การใช้ไลน์ทั้งส่วนตัวและกลุ่มที่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เอสเอ็มอีจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่ เพื่อการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้สอดคล้องและสนับสนุนการบริโภคในรูปแบบใหม่ดังที่กล่าวมา
6)      การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม

ทั่วโลกให้ความใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน ภัยธรรมชาติ สภาพอากาศผันผวน และการทำลายป่าไม้ ผลกระทบจากประเด็นเหล่านี้ส่งอิทธิพลในระดับโลก ผู้บริโภคสมัยใหม่ให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมเชิงสังคมหรือการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจและการสนับสนุนจากผู้บริโภคสมัยใหม่ เอสเอ็มอีเองก็ควรให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ นอกจากจะเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเชิงสังคมแล้ว ยังทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อกิจการด้วย ตัวอย่าง เอสเอ็มอีที่ผลิตภาชนะที่เป็นกระดาษใช้แทนกล่องโฟม เป็นต้น   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น