วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2561

การจัดการกลยุทธ์

การจัดการกลยุทธ์
          เมื่อพูดถึง “กลยุทธ์” คำแปลหรือความหมายที่ง่ายที่สุด น่าจะเป็น “การวางแผนสู้” หรือ “การเอาชนะ” เพราะเดิมคำนี้เกิดขึ้นจากยุทธภูมิการสู้รบในสงครามต่างๆ เมื่อปรับมาใช้ในเชิงธุรกิจการค้าอาจจะฟังดูแปลกๆ ยิ่งภาษาไทยแปลจากรากศัพท์ภาษาต่างประเทศ เราใช้คำว่า “กล” ซึ่งฟังดูไม่ค่อยจะดีสักเท่าใดนักในความรู้สึกนึกคิดของคนไทย แต่ถ้าเข้าใจว่า ในเชิงธุรกิจการค้าขายแล้ว กลยุทธ์มันก็คือ “แผนอย่างหนึ่ง” เท่านั้นเอง เพียงแต่กลยุทธ์มันคือแผนสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจ เพราะกลยุทธ์จะกำหนดเส้นทางการดำเนินกิจการเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย
ว่ากันตามหลักการในการทำธุรกิจ กลยุทธ์ในการดำเนินกิจการมีอยู่ 3 ระดับ คือ กลยุทธ์ระดับองค์การ กลยุทธ์ระดับธุรกิจ และกลยุทธ์ระดับหน้าที่หรือระดับฝ่ายปฏิบัติการ ก่อนจะเกิดกลยุทธ์ระดับต่างๆเหล่านี้ได้ เจ้าของกิจการและฝ่ายบริหารจะต้องวิเคราะห์สิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้ละเอียดถี่ถ้วนและมีความถูกต้อง ทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกกิจการ เช่น การเมือง กฎระเบียบ สภาพเศรษฐกิจ สภาพสังคม ความต้องการของผู้บริโภค ปัจจัยต่างประเทศ เป็นต้น และสิ่งต่างๆที่อยู่ในองค์กรหรือกิจการเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เช่น กิจการของเรามีจุดแข็งหรือข้อได้เปรียบตรงไหนบ้าง มีจุดอ่อนมากน้อยขนาดไหนเมื่อเทียบกับคู่แข่งของเรา สินค้าและบริการเรามีจุดเด่นอย่างไรในสายตาผู้บริโภค เรามีกระบวนการสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกสู่ตลาดหรือไม่ เป็นต้น การวิเคราะห์สิ่งต่างๆเหล่านี้สำคัญมาก วิเคราะห์ได้ดี ได้มาก ได้ถูกต้อง ได้ละเอียดทุกแง่มุม ถือได้ว่า “กิจการสำเร็จไปแล้วครึ่งทาง” เพราะหากวิเคราะห์ได้น้อย วิเคราะห์ไม่ครบถ้วน หรือวิเคราะห์ผิด ย่อมส่งผลต่อกลยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลยุทธ์ที่ผิดพลาด ก็เหมือนยกทัพเข้าสู่สมรภูมิด้วยความไม่พร้อม มีโอกาส “ตายหมู่” เลยทีเดียว 

กลยุทธ์ 3 ระดับ ต้องมีความสอดคล้องกัน ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้ง โดยต้องเริ่มจากการกำหนดกลยุทธ์ระดับองค์การเป็นอันดับแรก แล้วจึงไปสร้างกลยุทธ์ระดับธุรกิจ หลังจากนั้น ก็แตกรายละเอียดออกไปเป็นกลยุทธ์ระดับหน้าที่ตามฝ่ายปฏิบัติการต่างๆในหน่วยธุรกิจที่รับผิดชอบ หากจะสรุปกลยุทธ์ทั้ง 3 ระดับแบบง่ายๆ ก็จะได้เป็นดังนี้
1.       กลยุทธ์ระดับองค์การ ประกอบด้วย กลยุทธ์เติบโต กลยุทธ์คงตัว และกลยุทธ์หดตัว
2.       กลยุทธ์ระดับธุรกิจ ประกอบด้วย กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง กลยุทธ์ต้นทุนต่ำ และกลยุทธ์ตลาดเฉพาะเจาะจง
3.       กลยุทธ์ระดับหน้าที่ ประกอบด้วย กลยุทธ์ของฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นๆ เช่น กลยุทธ์การตลาด     กลยุทธ์การผลิต กลยุทธ์การเงิน กลยุทธ์การจัดการบุคลากร กลยุทธ์การขาย เป็นต้น

ตัวอย่าง หากกิจการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆรอบด้านอย่างดีแล้ว ทั้งสภาพภายนอกและสภาพภายในองค์กร แล้วเลือกที่จะใช้กลยุทธ์เติบโต ก็ต้องมาดูต่อว่า กิจการจะเติบโตได้อย่างไร กลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญคือ กลยุทธ์การสร้างความแตกต่าง ซึ่งหลายกิจการที่เลือกใช้กลยุทธ์นี้ จะสร้างให้เกิดความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความแตกต่างจากคู่แข่งหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่เคยมีในตลาดผู้บริโภคมาก่อน เป็นต้น หรือบางกิจการอาจสร้างความแตกต่างให้เกิดกับตราสินค้าหรือแบรนด์ (Brand) เช่น สร้างองค์กรให้เป็นองค์กรที่เน้นการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและไม่ใช้สารเคมีที่อันตรายในกระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้บริโภคมองตราสินค้าหรือแบรนด์ว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly product)” ซึ่งโดยส่วนมากพบว่า การใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง จะส่งผลให้ราคาขายสินค้ามีราคาดี สามารถตั้งราคาได้สูง จึงไม่จำเป็นต้องใช้วิธีทางการตลาดแบบลดราคา หรือ ลด แลก แจก แถม เนื่องจากผู้บริโภคในยุคใหม่ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ยอมที่จะจ่ายซื้อสินค้าในราคาสูง เมื่อผู้บริโภคเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์นั้นไม่มีอันตราย ไม่ใช้สารเคมีในปริมาณสูง เป็นต้น หลังจากการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจแบบมุ่งสร้างความแตกต่าง กลยุทธ์ระดับหน้าที่แต่ละฝ่ายในกิจการ ต้องดำเนินกลยุทธ์ของฝ่ายให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ระดับธุรกิจดังกล่าว เช่น กลยุทธ์ทางการตลาด ต้องเน้นการสร้างความแตกต่างในทุกประเด็นที่เป็นหัวใจของการตลาด นั่นคือ ผลิตภัณฑ์ (Product) ต้องมีรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า สินค้านี้แตกต่างอย่างไรกับสิ่งที่มีอยู่ในตลาด และทำไมผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าชิ้นนี้ ในด้านราคา (Price) ฝ่ายการตลาดต้องกำหนดราคาให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของสินค้า ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว สินค้าที่มีความแตกต่างมักจะตั้งราคาสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันในตลาด การส่งเสริมทางการตลาด (Promotion) เป็นอีกงานที่สำคัญมากของฝ่ายการตลาด ในการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ สิ่งที่ดีกว่าของผลิตภัณฑ์นี้คืออะไร ทำไมต้องซื้อ ทำไมต้องจ่ายราคาที่สูงกว่า มีเหตุผลอะไร ต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้กับผู้บริโภค เพื่อทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ ส่วนสุดท้ายคือ ช่องทางการจัดจำหน่าย (Place) ฝ่ายการตลาดต้องเลือกให้ถูกต้องว่า จะวางผลิตภัณฑ์ขายที่ใดบ้าง กลุ่มลูกค้าเป้าหมายอยู่ที่ใด สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์หรือไม่ และต้องประมาณการจำนวนซื้อให้แม่นยำ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ “ของขาดตลาด”

         เพราะผู้บริโภคสมัยใหม่หรือ “ผู้บริโภค 4.0” นั้น ต้องการความสะดวก ความรวดเร็ว ความพร้อมใช้ของสินค้าและบริการ การเข้าถึงได้ง่าย ต้องทันทีทันใจ และต้องการความโปร่งใส ไม่หลอกลวง ดังนั้น การสร้างกลยุทธ์หรือการวางแผนสู้(รบ) จะต้องละเอียด รัดกุม ครบถ้วน มีความพร้อม ถึงจะเอาชนะในเกมธุรกิจได้  

วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)

ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)


ดร.อำพล ชะโยมชัย 


ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคล หรือ กลุ่มบุคคล ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง และ ดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่ด้วยตนเอง เพื่อมุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของกำไร หรือ ผลประโยชน์ตามที่ได้มุ่งหมายไว้ และ พร้อมยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ (สุธีรา อะทะวงษา, 2560)


ผู้ประกอบการ กับ เจ้าของธุรกิจ แตกต่างกัน
 • ผู้ประกอบการ
การใช้ความคิด ทักษะ ในการริเริ่มและบริหารธุรกิจ
ธุรกิจเติบโตและเข้มแข็ง
• เจ้าของธุรกิจ (Business person)
อาจพอใจธุรกิจในปัจจุบัน
อาจไม่สนใจใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาธุรกิจใหม่


ประเภท/ลักษณะของการประกอบการธุรกิจ
  • เริ่นต้นธุรกิจด้วยตัวเอง
  • ซื้อธุรกิจ
  • ซื้อแฟรนไชส์ (Franchise)


ข้อดีของการเป็นผู้ประกอบการ
1.มีความเป็นอิสระ ตัดสินใจด้วยตนเอง
2.ได้ใช้ความสามารถของตนเองทุกด้านอย่างเต็มที่ (นายตนเอง)
3.ได้รับรายได้ทั้งหมดจากธุรกิจ (ไม่ต้องแบ่ง ไม่ต้องรอโบนัส)
4.มีชื่อเสียงในสังคม (เมื่อสำเร็จ)
5.ได้สนองความพึงพอใจของตนเอง
ทำงานที่ตนรัก เต็มที่ (24/7)
ได้อยู่กับครอบครัว
ได้ถ่ายทอดความรู้ความชำนาญสู่ลูกหลาน (ผู้สืบทอด)

ข้อเสียของการเป็นผู้ประกอบการ
1.ต้องทำงานหนัก (เกินเวลาทำงานทั่วไป)
2.ต้องทำงานทุกอย่าง (รู้ทุกเรื่อง)
3.ต้องตัดสินใจทุกเรื่อง
4.รายได้ไม่สม่ำเสมอ (รับความเสี่ยง)
5.บริหารจัดการทุกเรื่อง
ภายใน - ลูกจ้าง
ภายนอก – ลูกค้า เจ้าหนี้ ภาครัฐ 

วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)

“ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” คือ บุคคลหรือกลุ่มคนต่างๆที่มีผลต่อการทำกิจกรรมด้านธุรกิจ หรือได้รับผลกระทบจากการทำกิจกรรมด้านธุรกิจ หรืออาจหมายรวมถึงผู้ที่ให้ความสนใจเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆของธุรกิจ
จากนิยามที่ให้ข้างบน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1.       ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน เช่น เจ้าของหรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ พนักงาน ผู้บริหาร เป็นต้น
2.       ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เช่น ลูกค้า ผู้ส่งวัตถุดิบให้กับธุรกิจ ชุมชนรอบข้างธุรกิจ เป็นต้น


การทำธุรกิจ ไม่ว่าระดับใดก็ตาม ต้องสำรวจว่า ใครบ้างหรือกลุ่มไหนบ้างที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจนั้นๆ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเหล่านี้ จะมีความเชื่อมโยงอยู่กับธุรกิจตลอดเวลา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงกันนี้ มี 2 ลักษณะใหญ่ ได้แก่   
1.      การสนับสนุนธุรกิจ เช่น ลูกค้ามาซื้อสินค้า พนักงานผูกพันกับองค์กร ภาครัฐสนับสนุน เป็นต้น  
2.      การขัดขวางธุรกิจ เช่น พนักงานไม่ทำงานให้มีประสิทธิภาพ ชุมชนต่อต้าน สังคมตำหนิ เป็นต้น
การตัดสินใจใดๆของผู้ประกอบการต้องนึกถึง “ความสมดุล” ระหว่างความต้องการต่างๆของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจ หรืออาจกล่าวว่า ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องสามารถบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจตนได้อย่างมีดี ซึ่งแน่นอนว่า การตัดสินใจทุกครั้งย่อมไม่สามารถทำให้ทุกกลุ่มพึงพอใจได้ ปัจจัยหนึ่งที่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจต้องระลึกไว้เสมอ คือ ธุรกิจที่ดำเนินการนั้น ต้องสอดคล้องกับระบบสังคมที่ธุรกิจเกี่ยวข้อง เพราะระบบสังคมนั้น มีความคาดหวังว่า ใครก็ตามที่มาเป็นสมาชิกของระบบสังคม ต้องประพฤติอย่างไร ในลักษณะไหน ระบบสังคมมีความซับซ้อนเพราะมีองค์ประกอบหลายส่วน และมีเกณฑ์กำหนดพฤติกรรมของสมาชิกของสังคมในลักษณะที่แน่นอน เช่น ต้องทำธุรกิจที่มีคุณธรรมและรับผิดชอบต่อสังคม จึงจะถือเป็นธุรกิจที่ดี และมีลูกค้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการ เป็นต้น

ที่มา Scarborough, N. M., & Cornwall, J. R. (2015). Entrepreneurship and effective small business management (11th ed.). England: Pearson Education.

คำถาม
1.      จากธุรกิจที่ท่านเลือกมา ใครบ้างคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ?
2.      ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังกล่าว มีความคาดหวังอะไรบ้างจากธุรกิจของท่าน ? (จงระบุและอธิบายรายละเอียดเป็นข้อ)

3.      จากความคาดหวังต่างๆในข้อ 2. ถ้าท่านเป็นเจ้าของธุรกิจดังกล่าว ท่านจะดำเนินการอย่างไร ให้เกิดการสนับสนุนธุรกิจหรือป้องกันการขัดขวางธุรกิจ ?

เอสเอ็มอีเติบโต ประเทศเจริญ

เอสเอ็มอีเติบโต ประเทศเจริญ
          ทำไม ภาครัฐของทุกประเทศจึงให้ความสนใจกับ “เอสเอ็มอี” หรือ กิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME หรือ Small and Medium Enterprises ) เหตุผลก็คงเพราะเมื่อเอาผลการดำเนินงานของเอสเอ็มอีทั้งหมดในประเทศมารวมกัน ผลรวมที่ได้จะมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งส่งผลต่อภาพรวมของประเทศอย่างชัดเจน ตัวอย่าง เช่น เอาผลิตภัณฑ์มวลรวมของเอสเอ็มอีในประเทศไทยทั้งหมดรวมเข้าด้วยกัน จะมีขนาดใหญ่ถึงประมาณร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศไทย การจ้างงานที่เกิดในเอสเอ็มอีมีปริมาณมาก มากกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงานทั้งหมดในประเทศ การส่งออกไปต่างประเทศของเอสเอ็มอีก็อยู่ในปริมาณที่สูง คือ มากกว่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศไทย เป็นต้น
            ความสำคัญของเอสเอ็มอีนั้นมีอยู่หลายด้าน ทั้งความสำคัญต่อเศรษฐกิจประเทศและความสำคัญต่ออุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทย เพราะเอสเอ็มอีเป็นหน่วยที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ จากสถิติในปี พ.ศ. 2559 พบว่า เอสเอ็มอีของประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 3,000,000 ราย เอสเอ็มอีถือเป็นทั้งหน่วยที่ป้อนวัตถุดิบต่างๆให้กับอุตสาหกรรม เป็นหน่วยผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศ และยังเป็นหน่วยที่รับผลผลิตจากอุตสาหกรรมไปกระจายสู่ส่วนต่างๆของประเทศไทยด้วย เช่น      เอสเอ็มอีที่เป็นกิจการผลิตอาหารและเกษตร คือ หน่วยที่ตอบสนองความต้องการในการบริโภคสินค้าต่างๆ เอสเอ็มอีที่เป็นร้านค้าปลีกถือเป็นหน่วยที่กระจายสินค้าไปยังผู้บริโภคในพื้นที่ทั่วประเทศไทย เอสเอ็มอีที่เป็นร้านอาหารถือเป็นหน่วยที่ให้บริการผู้บริโภค ซึ่งร้านอาหารจะกระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย จึงเป็นส่วนที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีการเคลื่อนไหว มีการใช้จ่ายและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง  ดังนั้น การที่ภาครัฐส่งเสริมให้เอสเอ็มอีเติบโต จึงมีความสำคัญต่อการทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
จากข้อมูลการเริ่มเอสเอ็มอีและการเลิกกิจการ พบว่า เกือบครึ่งที่ไปไม่รอด ดังนั้น เอสเอ็มอีจึงต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการอยู่รอดและการเติบโตของเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจัยสำคัญหลักมีดังต่อไปนี้
1)      ความรู้ด้านธุรกิจและตลาด
ผู้บริหารเอสเอ็มอีต้องเข้าใจใน “ลักษณะความเป็นผู้ประกอบการ” ที่สำคัญ เช่น การมีวิสัยทัศน์ ความคิดสร้างสรรค์ ความมุ่งมั่นและเป้าหมายชัดเจน มีกระบวนการในการจัดการความเสี่ยงในเรื่องต่างๆของกิจการ ต้องไม่สะเปะสะปะ “ไม่มั่ว” ต้องเข้าใจหลักธุรกิจและการทำการตลาด ต้นทุนที่เหมาะสมอยู่ที่จุดไหน จะตั้งราคาเท่าไร เมื่อไรจะคืนทุน หากไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง การหาที่ปรึกษาที่เชี่ยวชาญถือเป็นทางเลือกที่ดี 
2)      การจัดการด้านวิจัย นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่
การมีผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ หัวใจของการเติบโต ซึ่งต้องติดตามตลาดหรือผู้บริโภคเป้าหมายของตนเองอยู่เสมอ การมีนวัตกรรมถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงในกิจการและตลาด รวมถึงสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วย
3)      การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี
มีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แอพพลิเคชั่นใหม่ๆในมือถือ ความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร กลุ่มการติดต่อสื่อสารในเฟสบุ๊คหรือในไลน์  การพัฒนาหุ่นยนต์หรือโรบ็อทมาทำงานแทนมนุษย์ เอสเอ็มอีต้องมีความรู้และทันต่อเทคโนโลยีใหม่ๆ จะทำให้สามารถปรับตัวตามผู้บริโภคหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพดีมากขึ้น 
4)      การเปลี่ยนแปลงทางการเงิน
ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆที่เอื้อต่อการดำเนินชีวิตและเอื้อต่อธุรกิจ ทำให้การทำธุรกรรมทางด้านการเงินมีความง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เอสเอ็มอีต้องศึกษา หาความรู้ และทำการปรับใช้เทคโนโลยีทางการเงินที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าของตนเอง เช่น การจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค๊ด (QR code) เป็นต้น
5)      การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค
ผู้บริโภคสมัยใหม่ไม่เหมือนเดิมแล้ว ความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่จึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งด้านความสนใจในเรื่องสุขภาพ ความงาม เรื่องอนามัยและความปลอดภัยของอาหารการกิน ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบตัว การรับรู้และความสนใจที่เปลี่ยนไป สนใจเรื่องของสังคมผ่านสื่อออนไลน์และเอพพลิเคชั่นในมือถือมากขึ้น รวมถึงการแชร์ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดความสนใจหรือความไม่พอใจ การติดต่อสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยมีมากขึ้น เช่น การใช้ไลน์ทั้งส่วนตัวและกลุ่มที่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เอสเอ็มอีจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภคสมัยใหม่ เพื่อการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้สอดคล้องและสนับสนุนการบริโภคในรูปแบบใหม่ดังที่กล่าวมา
6)      การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม

ทั่วโลกให้ความใส่ใจเรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกร้อน ภัยธรรมชาติ สภาพอากาศผันผวน และการทำลายป่าไม้ ผลกระทบจากประเด็นเหล่านี้ส่งอิทธิพลในระดับโลก ผู้บริโภคสมัยใหม่ให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมเชิงสังคมหรือการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจและการสนับสนุนจากผู้บริโภคสมัยใหม่ เอสเอ็มอีเองก็ควรให้ความสนใจในเรื่องเหล่านี้ นอกจากจะเป็นโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเชิงสังคมแล้ว ยังทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อกิจการด้วย ตัวอย่าง เอสเอ็มอีที่ผลิตภาชนะที่เป็นกระดาษใช้แทนกล่องโฟม เป็นต้น